WHO ชื่นชมประเทศไทยยกย่องเป็นต้นแบบรับมือกับโควิด-19 นับเป็นผลจากระบบสาธารณสุขที่ดี รัฐบาลขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือตามมาตรการ พบหลังสงกรานต์ยอดผู้ติดเชื้อไม่พุ่ง เตรียมมุ่งสร้างความพร้อมเพื่อการเปิดประเทศ

วันนี้ (5 พฤษภาคม 2565) จากที่องค์การอนามัยโลกการเดินทางเยี่ยมประเทศไทยไทยพร้อมชื่นชมให้เป็น 1 ใน 3 ของต้นแบบในการรับมือกับโควิด-19 มั่นใจเกิดจากความร่วมมือกันทุกภาคส่วน รัฐบาลย้ำขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมกันปฏิบัติตนตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรการ Universal Prevention อย่างเคร่งครัด กรมสุขภาพจิตพร้อมขานรับนโยบายเร่งสานต่อพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพจิตเพื่อรองรับการเปิดประเทศ

       ดร.สมิลา  อัสมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวยกย่องให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบ 1 ใน 3 ที่มีการบริหารจัดการ และรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญนโยบายของรัฐบาลและการวางแผนอย่างรัดกุมจากคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ไทยเป็นประเทศนำร่องที่จะได้เผยแพร่ประสบการณ์สู่สาธารณะในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก 2565 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิก และเพื่อให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่รองรับวิกฤติด้านสาธารณสุขสำหรับใช้งานทั่วโลกในอนาคต

       นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า หลังจากเทศกาลสงกรานต์
ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนไม่ก้าวกระโดด และไม่พบกลุ่มแพร่ระบาดหรือการเกิดพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น  สิ่งเหล่านี้ต้องขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดทั้งก่อนและหลังการเดินทางเครือข่ายสาธารณสุข พี่น้องอสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ร่วมสนับสนุนการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงต่างๆสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่คืนความสุขและสร้างรอยยิ้มให้กับประชาชนได้อีกครั้งหลังจากที่หลายคนต้องห่างเหินจากครอบครัวเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุให้ไม่สามารถเดินทางได้

       แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า การที่ประเทศไทยได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกนั้น สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยในขณะนี้ซึ่งพบว่าดีขึ้นกว่าช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์2565 เป็นอย่างมาก ซึ่งจากการสำรวจผ่านระบบ Mental Health Check In พบว่าประชาชนมีความเข้มแข็งทางใจเพิ่มขึ้น โดยอัตราความเครียดลดลงจากร้อยละ 4.74 เหลือเพียงร้อยละ 2.55 อัตราเสี่ยงซึมเศร้าลดลงจากร้อยละ 5.74 เหลือเพียงร้อยละ3.12 และเสี่ยงฆ่าตัวตายลดลงจากร้อยละ 3.14 เหลือเพียงร้อยละ 1.54 ผลจากการสำรวจดังกล่าวกรมสุขภาพจิตมีแผนที่จะพัฒนาข้อมูลเพื่อให้ความรู้ความรู้ในการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตผ่านทางระบบ Mental Health Check In รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้สุขภาพจิตเข้าไปอยู่ในระบบหมอพร้อม (D-Mind MorPromt) อีกด้วย

       กระทรวงสาธารณสุขและทุกภาคส่วนจะเร่งสร้างและพัฒนากลไก รวมไปถึงจัดทำองค์ความรู้ในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพกายและจิตอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนให้การสนับสนุนมาตรการต่างๆ เช่นนี้ต่อไป เพื่อทำให้คนไทยได้กลับมามีรอยยิ้มและพบกับความสุขเหมือนเดิมอีกครั้ง

Related posts