นครปฐม EC. มรน. พร้อมขอรับการประเมินรับรองคุณภาพ คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (NECAST)

ศาสตราจารย์ระพีพรรณ  คำหอม  ประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กล่าวว่า คณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (Ethics Committee) ดำเนินงานมาก้าวเข้าสู่ปีที่ 12  และมีความพร้อมในการขอรับการประเมินรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (NECAST) ระหว่างวันที่ 22 – 24  มกราคม  2567 ณ  ห้องประชุม ชั้น 3 ห้อง 3/1 อาคารสิริวรปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

ศาสตราจารย์ระพีพรรณ  ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้ง คณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ว่า ปัจจุบันการศึกษาวิจัยในมนุษย์และสัตว์ ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นที่ยอมรับของสากล ต้องเป็นงานวิชาการที่อิงหลักฐาน (evidence-based) กล่าวคือ ต้องมีหลักฐานผ่านการพิสูจน์โดยวิธีการ (methodology) ที่เชื่อถือได้รองรับ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น เป็นไปอย่างประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จึงได้จัดตั้ง “คณะอนุกรรมการรจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์” จัดตั้งขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555 โดยใช้ชื่อว่า  โดยได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนเพื่อการวิจัย   โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์เภสัชกรหญิงสำลี  ใจดี  เป็นประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์ (คนแรก) และได้ช่วยวางรากฐานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์ จัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการวิจัยในมนุษย์ เกณฑ์และแนวปฏิบัติในการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์ เพื่อเป็นกรอบหรือคู่มือประกอบการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยฯ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ฉบับที่ 1.0 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของทุกฝ่ายให้สอดคล้องกับวิธีดำเนินงานตามที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร กระบวนการพิจารณารจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ทุกฝ่ายจะมีส่วนร่วมในการคุ้มครองศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครและชุมชน ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการวิจัยและหลังเสร็จสิ้นการวิจัย รวมทั้งส่งเสริมความสามารถให้คณาจารย์ ผู้วิจัย นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ให้ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสัตว์ตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับแนวทางจริยธรรมสากล รวมทั้งกฎหมายวิชาชีพ ข้อบังคับ และข้อกำหนดขององค์กรกำกับดูสแลการวิจัยในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในความดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศินี  ประทุมสุวรรณ  รองอธิการบดี (ในขณะนั้น) และอาจารย์ ดร.พัชรศักดิ์  อาลัย ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย  รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี)

ในปี 2557 มีการปรับปรุงวิธีดำเนินการมาตรฐานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์ ฉบับที่ 1.1 เป็นฉบับที่สอง ซึ่งต้องขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปรีดา  ทัศประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนกลุ่มสหสถาบัน ชุดที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายแพทย์วิชัย  โชควิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน สถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ สถาบันวิขัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล ความรู้ เอกสาร หนังสือ แนวทางสากลว่าด้วยหลักจริยธรรมการวิจัย (International Guidelines on Research Ethics) ในฉบับที่สองนี้มีการปรับปรุงแบบฟอร์มและหลักเกณฑ์การพิจารณาต่าง ๆ และได้ตัดคำว่า “สัตว์” ที่ปรากฎอยู่ในแต่ละหน้าออกให้ถูกต้องและสอดคล้องกันทั้งเล่ม

ในปี  2558 ผู้ช่วยศาสตราจารย์เภสัชกรหญิงสำลี  ใจดี ขอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ชุดใหม่ ตามคู่มือวิธีดำเนินการมาตรฐานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มีการสรรหาประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์ โดยได้รับคำแนะนำจาก ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม โอทกานนท์ ให้ทาบทาม   ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในวันที่ 27 ธันวาคม 2558  จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ชุดใหม่ มี ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม เป็นประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โดยได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนเพื่อการวิจัย และมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงสำลี ใจดี และ ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม โอทกานนท์ เป็นที่ปรึกษา จนถึงปัจจุบัน

ในปี 2560 มีการปรับปรุงคู่มือและแบบฟอร์ม แบบประเมินของอนุกรรมการผู้ทบทวนหลัก (AF 09-07) ภาษาอังกฤษ ให้เป็นภาษาไทยเพิ่มเติม การเพิ่มการบริหารจัดการโครงการวิจัยแบบยกเว้น (Management of Protocol of Exemption Review) (ECNP 09/02) เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติตามรายงานเบลมองต์ (Belmont Report) กฎนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Code) จริยธรรมในการวิจัยการดูแลสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา (The Ethics of Research Related to Healthcare in Developing Countries) ของคณะกรรมการชีวจริยธรรมนัฟฟีลด์ (Nuffield Council on Bioethics) รวมทั้งเป็นการส่งเสริม พัฒนาผู้วิจัยให้ดำเนินงานวิจัยอย่างมีมาตรฐาน

ศาสตราจารย์ระพีพรรณ  กล่าวต่อว่า ในปี 2564 มีการพิจารณาปรับปรุง “วิธีดำเนินการมาตรฐานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ฉบับที่สาม ในส่วนของวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการสร้าง ทบทวน อนุมัติและปรับปรุงแก้ไขวิธีดำเนินการมาตรฐาน (Standard Operating Procedures หรือ SOPs) ให้เหมาะสมกับยุคสมัยในทุกขั้นตอนให้ทันสมัย เข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และสอดคล้องกับระบบการรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หรือ NECAST (National Ethics Committee Accreditation System of Thailand) ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยให้คณะอนุกรรมการ เจ้าหน้าที่สำนักงาน นักวิจัย และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น ประสานงานกได้ง่ายขึ้น การจัดอบรมให้แก่คณาจารย์ บุคคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยฯ ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยที่ต้องคำนึงถึงจริยธรรมในการวิจัย จัดอบรมความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ที่คณะอนุกรรมการฯ ควรทราบเป็นระยะ ๆ ทำให้คณะอนุกรรมการ ฯ มีความรู้ ความสามารถในการพิจารณางานวิจัยมากขึ้นเป็นลำดับ จวบจนปัจจุบัน

Related posts