พช. ผนึกพลังกับ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ ร่วมขับเคลื่อน “การสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน”

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน และ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน “โครงการสืบสานศาสตร์พระราชาน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่วิถีชีวิต”การสร้างความร่วมมือดังกล่าว เพื่อพัฒนาครัวเรือน/ชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานร่วมกันภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนยั่งยืนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นตัวอย่างความสำเร็จต้นแบบให้กับชุมชนและสังคม โดยมีเป้าหมายต้นแบบการพัฒนาจำนวน 228 หมู่บ้าน




วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับนางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) โดยมี นายประชา เตรัตน์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนางปราณี รัตนประยูร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายให้ประชาชน ได้รับการพัฒนาอาชีพและมีรายได้ เศรษฐกิจครัวเรือนมีความมั่นคง ประชาชนใช้ชีวิต อยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข สอดคล้องกับนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินรัฐบาล
และกรมฯ กำหนดให้การพัฒนาอาชีพครัวเรือน เป็น 1 ในปัจจัยขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน มุ่งผลตามวิสัยทัศน์กรม คือ “เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้” และกรมฯ ยังส่งเสริมให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญบนพื้นฐานชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนมีความรู้และทักษะในการวิเคราะห์อาชีพเพื่อเชื่อมโยงการตลาดของชุมชนได้ ก่อให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก คือ “รายได้” ทำให้ประชาชนในชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความมั่นคงและยั่งยืน
โดยมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ

1) ระดับครัวเรือน : ภายในปีงบประมาณ 2563 นี้ กรมฯ จะส่งเสริมให้ 70% ของทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ดูแลรักษาความสะอาดของบ้าน บริหารจัดการขยะในครัวเรือนเพื่อช่วยลดโลกร้อน และการนำหลักศีลธรรมมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตด้วยการดูแลให้สมาชิกในครัวเรือนได้เข้าร่วมในศาสนกิจเป็นประจำ เพื่อให้ครอบครัวเกิดความเข้มแข็ง มีอาหารปลอดภัยรับประทาน ทั้งยังช่วยลดรายจ่าย และรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน
2) ระดับอาชีพ : การผลักดันให้อย่างน้อย 1 ครอบครัวใน 1 หมู่บ้าน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพภายใต้รูปแบบ “โคกหนองนาโมเดล” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นต้นแบบและเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับเพื่อนบ้านต่อไป
โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้มีข้อตกลงร่วมกันกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง ในการพัฒนาให้ความรู้และจัดทำศูนย์เรียนรู้ให้กระจายไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งจะดำเนินการในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ของกรมฯ ทั้ง 11 ศูนย์ ที่ศูนย์ฝึกอาชีพของกรมฯ จำนวน 6 ศูนย์ และที่สถาบันการพัฒนาชุมชน อีก 1 แห่ง รวมเป็น “18 ศูนย์เรียนรู้โคกหนองนาโมเดล” ภายในเดือนกันยายน 2563 นี้

คุณสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) “การทำงานร่วมกันจะดำเนินการตามมาตรฐาน ..เอิร์ธเซฟ อินทรีย์ วิถีไทย.. เพื่อให้ประโยชน์เกิดแก่ประชาชนและชุมชนอย่างยั่งยืน”

สุดท้ายนี้ อธิบดี พช. กล่าวอีกว่า สิ่งที่กรมการพัฒนาชุมชนตระหนักต่อการปฏิบัติหน้าที่ในชุมชนเสมอ ว่า “ชุมชน คือรากฐานของประเทศ ดังนั้น การพัฒนาชุมชน คือการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน”…

#กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย



Related posts