โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น เปิดป้ายอาคาร บ้านฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ อาคารพระครูอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น)

วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561 โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น เปิดป้ายอาคาร บ้านฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ อาคารพระครูอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น) เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับคนพิการจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการได้รับบริการอย่างมีมาตรฐานและมีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการให้สามารถดำรงชีวิตอิสระในสังคมได้อย่างมีความสุข กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญการฝึกทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานด้านการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ จึงได้มีการสนับสนุนให้มีการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ด้านการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยบริการและองค์กรคนพิการ

โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นร่วมกับศูนย์การดำรงชิวิตอิสระของคนพิการ อำเภอพุทธมลทล ดำเนินงานพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ด้านการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ มิถุนาคม ปี 2555 ถึง ปัจจุบัน มีรูปแบบการให้บริการแบบ peer counseling โดยทีมคนพิการจากศูนย์การดำรงชิวิตอิสระของคนพิการอำเภอพุทธมลทล 1 – 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในโรงพยาบาล มีการทำ peer group เพื่อเป็นการจัดให้คนพิการได้มาร่วมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน มีการเยี่ยมบ้านคนพิการในชุมชน ร่วมกับมีบริการฟื้นฟูสมรรถภาพและการดูแลสุขภาพจากสหวิชาชีพจากโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น

จากการดำเนินงาน ที่ผ่านมามีคนพิการที่เข้ารับบริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระทั้งสิ้น 36 ราย และมีคนพิการจำนวน 28 รายคิด ร้อยละ 75 คนพิการที่ผ่านการฝึกทักษะแล้วสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคม มีอาชีพ มีรายได้ และยังเป็นแกนนำในการช่วยเหลือคนพิการอื่นๆ ได้รับความร่วมมือ ในการสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องชองการดูแลคนพิการจากสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจากโรงพยาบาลศูนย์นครปฐมในการดูแล รักษาอาการความเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย ผลการดำเนินงานพบว่าการฝึกการดำรงชีวิตอิสระขั้นพื้นฐานของคนพิการยังขาดในเรื่องของสถานที่ฝึกกิจวัตรประจำวันของคนพิการ โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นมีแนวคิดสร้างบ้านฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการฝึกคนพิการในการดำรงชิวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำ การทำอาหาร การทำความสะอาดเสื้อผ้า โดยมีคนพิการและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นเป็นพี่เลี้ยงในการฝึก โปรแกรมในการฝึกได้มาจากความต้องการของคนพิการเอง (ILP : independent living program) เกิดงานฝึกทักษะคนพิการและบ้านวิถีชีวิตอิสระที่มีรูปแบบชัดเจน โดยมีสถาบันสิรินธร ฯ เป็นพี่เลี้ยงในการให้คำปรึกษาทีมงานและสนับสนุนองค์ความรู้ ในการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก วัดบางพระ โดยท่านพระครูอนุกูลพิศาลกิจ เจ้าอาวาสวัดบางพระ ได้บริจาคเงินในการสร้างบ้านฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ การออกแบบดำเนินการโดยวิศวกรที่เป็นคนพิการเอง การมีบ้านฝึกทักษะคนพิการแห่งนี้ ทำให้คนพิการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการฝึกทักษะการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้เร็วขึ้น

โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น เป็น รพ. ชุมชนแห่งที่ ๓ ของอำเภอนครชัยศรี ซึ่งเกิดจากศรัทธาที่แรงกล้าของหลวงพ่อเปิ่น ที่สร้าง รพ. ขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีที่พึ่งในการรักษาพยาบาล ได้รับความสะดวก สบายในการใช้บริการทางการแพทย์ รพ. แห่งนี้จึงมีความแตกต่างจาก รพ. ชุมชนอื่นๆ( เมื่อ ๒๔ ปีที่แล้ว) คือ การมีอาคารฟื้นฟูที่พร้อม มีเครื่องมือที่ครบถ้วน ซึ่งการทำงานฟื้นฟูสมรรถภาพ ถือว่าเป็น ๑ ในภารกิจสำคัญ ของกระทรวงสาธารณสุข คือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู

รพ. หลวงพ่อเปิ่น มีความโดดเด่นด้านการฟื้นฟู ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ของผู้รับบริการ มาอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะเป็น รพ. ขนาดเล็ก รับผิดชอบประชากรไม่มาก แต่มีการบริการผสมผสานการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบัน กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด แพทย์แผนไทย และ แพทย์แผนจีน ในการดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นจุดแข็ง ของโรงพยาบาลแห่งนี้ จนเป็นแหล่งศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับการดูแลคนพิการของโรงพยาบาลแห่งนี้ มีความแตกต่างจากหลายๆ รพ ในจังหวัดนครปฐม หรือในระดับเขต ระดับประเทศ เพราะมีการทำงานร่วมกันของ หน่วยบริการทางการแพทย์ คือ โรงพยาบาลและองค์กรคนพิการ คือ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล ที่มีความเข้มแข็งในการเข้าถึงคนพิการในชุมชนได้อย่างดี จึงเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งเริ่มเกิดขึ้น ในปี ๒๕๕๔ การจับมือร่วมกันทำงานจึงเป็นการเรียนรู้ของทั้ง ๒ หน่วยงาน ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ด้านของสาธารณสุข มีความเชี่ยวชาญทางด้านการฟื้นฟูทางการแพทย์ องค์กรคนพิการมีความเชี่ยวชาญด้านการฝึกทักษะการใช้ชีวิตอิสระ จึงทำให้เป็นการเติมเต็มการบริการซึ่งกันและกัน การบริการฟื้นฟูให้เข้าถึงคนพิการมากขึ้น การทำงานด้านการฟื้นฟูคนพิการของโรงพยาบาลแห่งนี้ จึงมีผลงานเป็นที่ยอมรับของคนพิการ ของผู้รับบริการ โดยใช้แนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ (independent living concept) ซึ่งแนวคิดนี้ ให้ความสำคัญกับ การพัฒนาคนพิการให้มีอิสระทางความคิด และความสามารถในการกำหนดแนวทางการดำรงชีวิตของตนเองได้อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถเลือกตัดสินใจในการดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพของตนเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับความพิการว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงไร ทั้งนี้ต้องอาศัยการบริการและความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น

การเริ่มทำงานดูแลคนพิการโดยใช้แนวคิดนี้ เริ่มปี ๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบัน มีคนพิการที่ได้รับการดูแลปีละ ประมาณ ๑๐ คน เป็นทั้งคนพิการที่อยู่ใน รพ และ คนพิการที่อยู่ในชุมชน รวมประมาณ ๕๐ คน ในปีแรกคัดเลือก คนพิการเฉพาะในเครือข่าย ของโรงพยาบาล ปัจจุบันขยาย เปิด รับคนพิการทั่วทั้งจังหวัด และเริ่มมีคนพิการจากต่างจังหวัดขอเข้ามาฝึกด้วย คนพิการหลายคนที่ต้องติดเตียงยาวนานเป็นเวลา ๑๐ ปี ๒๐ ปี อยู่อย่างสิ้นหวัง และเป็นภาระที่ยาวนาน เมื่อการทำงานร่วมกันเกิดขึ้น ของโรงพยาบาลแห่งนี้โดยทีม สหวิชาชีพ โดยใช้การฟื้นฟูทางการแพทย์ และองค์กรคนพิการ โดยใช้ทฤษฎีของการดำรงชีวิตอิสระ ใช้กระบวนการ Peer Couselling จึงส่งผลให้คนพิการหลายคนมีความเชื่อมั่น สามารถพัฒนาตนเอง สามารถออกสู่สังคมได้ เป็นแกนนำในชุมชน เปลี่ยนจากภาระ เป็นพลังของสังคม มีหลายๆกรณีศึกษาของคนพิการจากโรงพยาบาลแห่งนี้ ที่เป็นแบบอย่างของการฟื้นฟูโดยแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระ เป็นความสำเร็จของการดูแลคนพิการโดยใช้ความร่วมมือ ที่ประสบความสำเร็จทั้งต่อคนพิการและต่อการเรียนรู้ของบุคคลากร

เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระได้ จำต้องได้รับการเรียนรู้และการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ สำหรับการฝึกทักษะการดำรงชีวิตคนพิการก้าวต่อไป ของที่รพ แห่งนี้ กำลังดำเนินงานต่อคือ การสร้างบ้านตัวอย่างเพื่อใช้ฝึกคนพิการก่อนที่จะจำหน่ายกลับบ้าน ซึ่งมีแผนการใช้บ้านฝึกทักษะนี้ ให้กับกลุ่มคนพิการที่ต้องการฝึกการดำรงชีวิตอิสระ คนไข้ Imtermediate Care ที่ รพ เป็น Node ของการดูแลตาม service plan ของจังหวัดนครปฐม รับส่งกลับจาก รพ นครปฐม หรือ Long term care การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว การจัดสิ่งแวดล้อมที่ป้องกันการหกล้ม การปรับปรุงห้องน้ำที่เหมาะสม ปัจจุบันบ้านหลังนี้สร้างเสร็จแล้ว เป็นบ้านที่ได้รับเงินบริจาคจากวัดบางพระ เป็นบ้านที่ทีมคนพิการเป็นผู้ออกแบบกันเอง สร้างให้เป็นบ้านต้นแบบในการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ เป็นบ้านตัวอย่างให้กับคนพิการได้มองเห็นเป็นรูปธรรม เมื่อต้องกลับบ้านจะสามารถปรับบ้านให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และสามรถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระได้

ผลงานที่ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ว่าเกิด ประโยชน์กับผู้รับบริการ ต่อครอบครัว ต่อชุมชน จึงน่าจะให้มีการขยายแนวคิดนี้ ให้มากขึ้น สนับสนุนกลุ่มตนพิการให้มีความเข้มแข็งเพื่อร่วมมือกันดูแลคนพิการที่มีคุณภาพที่ดีต่อไป จุดดีของแนวคิดนี้คือ การให้ความสำคัญด้านจิตใจและสังคมของคนพิการ และสามารถพัฒนาชีวิตคนพิการไปสู่เป้าหมายสูงสุดของแต่ละคนได้ คนพิการมีอิสระทางความคิด มีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถเลือกตัดสินใจในการดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพของตนเอง สุดท้ายพบว่า คนพิการที่ผ่านกระบวนการนี้ จะเรียนรู้ของการเป็นผู้ให้ และแบ่งปัน บุคลากรสาธารณสุขมีความถ่อมตน อ่อนน้อม มองเห็นศักยภาพของคนพิการ ไม่ได้มองคนพิการแค่ภายนอกของความพิการว่าเป็นภาระ แต่มองเห็นพลังที่เข้มแข็งของคนพิการในการพัฒนางานไปด้วยกันอย่างเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกัน และมีเป้าหมายสูงสุดคือ เพื่อผู้รับบริการได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ ซึ่งจะส่งให้คนพิการได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Related posts