พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2563 ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จังหวัดนครปฐม

วันที่ 24 เมษายน 2563 เวลา 17.39 . พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ในการพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2563 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม เฝ้าฯ รับเสด็จ

ในการนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมชุณหะวัณ ในการพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา2563 โดยสำเร็จการศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการตำรวจจำนวน 267 นาย

ทั้งนี้ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2444 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิชาชีพตำรวจขั้นสูง โดยมีภารกิจหลักด้านการให้การศึกษา การส่งเสริมวิชาการตำรวจ การศึกษาวิจัย และการฝึกอบรม เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในวิชาชีพตำรวจ และเป็นสถาบันหลักในการผลิตข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ตามความต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวมถึงภารกิจในการให้บริการทางวิชาการและสนับสนุนองค์ความรู้ในวิชาชีพตำรวจแก่สังคมไทย ปัจจุบันเปิดสอนในคณะรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการตำรวจโดยมีคณะตํารวจศาสตร์ คณะนิติวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และคณะนิติศาสตร์สนับสนุนการเรียนการสอนในด้านวิชาการ รวมทั้งมีกองบังคับการปกครอง และศูนย์ฝึกตำรวจเป็นหน่วยสนับสนุนการฝึก ทั้งในด้านการปฏิบัติตามวินัยแบบธรรมเนียมตำรวจและในด้านยุทธวิธีตำรวจ

โอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราโชวาท ใจความสำคัญแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของข้าราชการตำรวจผู้รับราชการเป็นตำรวจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ คือทำหน้าที่พิทักษ์รักษาสันติสุขของประชาราษฎร์ การจะทำหน้าที่ดังกล่าว นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถแล้ว แต่ละคนยังต้องตั้งตนอยู่ในความสุจริต ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ และในการดำเนินชีวิต อันเป็นปกติประจำวันด้วย ความสุจริตนั้น มี 3 ส่วนด้วยกัน คือ การประพฤติปฏิบัติส่วนหนึ่ง คำพูดจาปราศรัยส่วนหนึ่งและความคิดจิตใจอีกส่วนหนึ่ง ถ้าทุกคนสามารถสำรวมระวังการกระทำคำพูด และความคิดของตนให้ถูกต้องเป็นสุจริตอยู่เสมอ ก็จะเกื้อกูลการปฏิบัติภารกิจทุกอย่าง ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง เหมาะสมทุกเมื่อ ส่งผลให้ประชาราษฎรมีความสงบสุขปลอดภัย และชาติบ้านเมืองก็จะมีความผาสุกมั่นคงได้อย่างแท้จริง

*****************************

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม

Related posts