ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจและคัดกรองประชาชนที่มีความเสี่ยง เป็นโรคพาร์กินสัน ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม
วันที่ 15 พ.ค. 68 ที่อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม รองศาสตราจารย์นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจและคัดกรองประชาชน ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพากินสัน และกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัด คณะกรรมการและสมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัด หัวหน้าสถานีกาชาดที่ 2 กรุงเทพมหานคร คณะวิทยากรจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และประชาชนร่วมโครงการในครั้งนี้
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่พบมากในผู้สูงอายุ และมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ ซึ่งการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันตั้งแต่ระยะเริ่มต้นทำได้ยาก เนื่องจากในระยะแรกอาการแสดงยังมีไม่มาก นอกจากนี้ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบประสาท จึงทำให้ผู้ป่วยในบางพื้นที่เข้าถึงการตรวจวินิจฉัย และการรักษาได้ยาก โดยการรักษาในรูปแบบเดิม ซึ่งจะเป็นการตั้งรับรอให้ผู้ที่มีอาการป่วยจึงมารักษา ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเมื่ออาการรุนแรง ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่อคนจึงค่อนข้างสูง นอกเหนือจากคุณภาพชีวิตแล้ว ยังทำให้มีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจทั้งในส่วนครัวเรือน และระดับประเทศ
ในปีพ.ศ 2567 ได้มีการลงพื้นที่คัดกรองประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสมุทรปราการ และงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 สวนนงนุช จังหวัดชลบุรี ตามลำดับ 1,153 ราย หลังจากทำการทดสอบผ่าน Application “Check PD” และการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถแบ่งกลุ่มตามผลการคัดกรองออกเป็น กลุ่มที่เป็นโรคพาร์กินสัน 34 ราย กลุ่มที่มีอาการนำ 57 ราย กลุ่มที่มีอาการโรคพาร์กินสันเทียม 2 ราย และกลุ่มที่ไม่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน 1,060 ราย
และในปีพ.ศ 2568 ได้มีการวางแผนลงพื้นที่คัดกรองประชาชนจำนวน 29 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อค้นหาผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นแบบเชิงรุก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สภากาชาดไทยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพอย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับการจัดโครงการในครั้งนี้ มีบุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วมอบรมความรู้ในการคัดกรองความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน โดยใช้เทคโนโลยีคัดกรองพาร์กินสัน Application Check PD ให้แก่อาสาสมัครโครงการ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังให้อาสาสมัครมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันที่ถูกต้อง และสามารถถ่ายทอดความรู้และให้คำแนะนำในการใช้งาน Application Check PD แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างระบบการดูแลสุขภาพเชิงรุกในระดับชุมชนต่อไป
…………….
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม ภาพ/ข่าว